|
เปิดเว็บไซต์ |
27/09/2017 |
ปรับปรุง |
27/05/2022 |
สถิติผู้เข้าชม |
371287 |
Page Views |
550486 |
|
|
ประวัติความเป็นมา
การกระจายอำนาจบริหารระดับตำบลเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยการประกาศใช้ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐) ซึ่งประกอบด้วยสาระที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง อำนาจหน้าที่ของกรมการอำเภอ จัดการปกครองท้องที่ให้เรียบร้อย รวมทั้งการกำกับดูแลกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่มาจากการเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่บริหารราชการ อำนาจหน้าที่ที่สำคัญ ได้แก่ การรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตพื้นที่
กรมการอำเภอ ประกอบด้วยนายอำเภอ ปลัดอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการบริหารฝ่ายพลเรือนต่าง ๆ ซึ่งรับราชการประจำอำเภอนั้น ๆ กรมการอำเภอต้องเคารพความคิดเห็นของราษฎร โดยฟังความคิดเห็นของกำนันและผู้ใหญ่บ้าน กรมการอำเภอต้องมีหน้าที่ตักเตือนชี้แจงกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในเรื่องอำนาจหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการบริหารท้องถิ่นของตนเอง ทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง เพื่อให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านได้ตัดสินใจ วินิจฉัยสั่งการได้ถูกต้องตามอำนาจหน้าที่ เมื่อกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กระทำความผิด กรมการอำเภอมีอำนาจให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านออกจากตำแหน่ง
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ประกาศใช้ พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๖) จึงยกเลิกพระราชบัญญัติลักษณะปกครอง ร.ศ. ๑๑๖ พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจำตำบลมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติราชการส่วนภูมิภาคภายใต้การบังคับบัญชาของนายอำเภอ
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทยให้จัดตั้งสภาตำบล และมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โดยให้องค์กรมีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์ให้ราษฎรในท้องถิ่นเข้ามาแก้ปัญหาของตนเอง แต่การดำเนินงานไม่บรรลุผล เพราะเป็นเรื่องยากที่จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น จึงประกาศยกเลิกองค์การบริหารส่วนตำบลเป็น สภาตำบล ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ (ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๒๖ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕)
ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๒๖ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
กำหนดให้สภาตำบลประกอบด้วยบุคลากรดังต่อไปนี้
๑. กำนันเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง
๒. ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านในตำบลนั้น ๆ
๓. แพทย์ประจำตำบลเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
๔. ราษฎรในหมู่บ้าน ๆ ละ ๑ คน (มาจากการเลือกตั้ง)
๕. ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่
๕.๑ ครูประชาบาลในตำบล ๑ คน (นายอำเภอคัดเลือกเสนอผู้ว่าราชการ จังหวัดแต่งตั้งเป็นเลขานุการ
๕.๒ ปลัดอำเภอหรือพัฒนากรอำเภอ ๑ คน (นายอำเภอคัดเลือกเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา
สภาตำบล มีสมาชิกของสภามาจากการเลือกตั้งหมู่บ้านละ ๑ คน เป็นฝ่ายให้ข้อเสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ทรงคุณวุฒิ แพทย์ประจำตำบล และปฏิบัติตามมติของสภาตำบล ปฏิบัติงานตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือทางราชการมอบหมาย ประสานงานกับราษฎร และองค์กรอื่น ๆ ในการพัฒนาตำบล
การกำกับดูแลให้เป็นไปตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๒๖ ผู้ที่ต้องทำหน้าที่กำกับดูแลคือ นายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจควบคุมสภาตำบล ในขณะเดียวกันนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดก็บังคับบัญชากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจำตำบลด้วย
ผลการปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจ สภาตำบลจึงเป็นส่วนราชการภูมิภาคไปโดยปริยาย
ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ จึงมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ได้ยกเลิก ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๒๖ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ โดยมีจุดประสงค์ปรับปรุงฐานะของสภาตำบลเป็นนิติบุคคล และปรับปรุงการบริหารงานให้เป็นการกระจายอำนาจการปกครองสู่ราษฎรท้องถิ่นมากที่สุด และยกระดับสภาตำบล ที่มีรายได้ตามเกณฑ์เป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ดังนั้น การปกครองท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับตำบล จึงมี ๒ รูปแบบ คือ
๑. สภาตำบลที่เป็นนิติบุคคล พัฒนาไปเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล
๒. องค์การบริหารส่วนตำบลพัฒนาเป็นเทศบาล
หลักเกณฑ์การจัดตั้ง
องค์การบริหารส่วนตำบลจัดตั้งจาก สภาตำบลที่มีรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ ล่วงมาติดต่อกัน ๓ ปี เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ ๑๕๐,๐๐๐ บาท หรือตามเกณฑ์รายได้เฉลี่ยที่มีการเปลี่ยนแปลง (ซึ่งทำเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา) การประกาศยกฐานะ สภาตำบลเป็น องค์การบริหารส่วนตำบลต้องทำเป็น ประกาศกระทรวงมหาดไทย และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา โดยในประกาศให้ระบุชื่อและเขต ขององค์การบริหารส่วนตำบลไว้ด้วย
องค์การบริหารส่วนตำบลมีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น
การยุบรวมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
๑ องค์การบริหารส่วนตำบลใดมีจำนวนประชากรไม่ถึง ๒,๐๐๐ คน ทั้งเป็นเหตุไม่สามารถที่จะดำเนินการบริหารงานพื้นที่นั้นให้มีประสิทธิภาพในลักษณะขององค์การบริหารส่วนตำบลได้ ให้กระทรวงมหาดไทยประกาศยุบองค์การบริหารตำบลดังกล่าว โดยให้รวมพื้นที่เข้ากับองค์การบริหารส่วนตำบลอื่นที่มีเขตติดต่อกันภายในเขตอำเภอเดียวกัน หรือให้ตราพระราชกฤษฎีกายุบองค์การบริหารส่วนตำบลดังกล่าว โดยให้รวมพื้นที่เข้ากับหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่มีเขตติดต่อกันภายในเขตอำเภอเดียวกัน ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในเขตตำบลนั้นภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่มีเหตุดังกล่าว
๒ สภาตำบลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลอาจรวมกับองค์การบริหารส่วนตำบล ที่มีเขตติดต่อกันภายในเขตอำเภอเดียวกันได้ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในเขตตำบลนั้นได้
๓ สภาตำบลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลอาจรวมกับหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่มีเขตติดต่อกันภายในเขตอำเภอเดียวกันได้ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในเขตตำบลนั้นโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและให้กำหนดเขตใหม่ของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นไว้ในพระราชกฤษฎีกาด้วย
|
|